พลาสติกชีวภาพ (bioplastic) ทางเลือกเพื่อชีวิตที่ยั่งยืน

[ขอขอบคุณบทความจาก floralhotelsupply]

ความพยายามของรัฐบาลในการรณรงค์ให้ “งด” ใช้ถุงพลาสติกเข้มข้นมากยิ่งขึ้นตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งมากกว่าการรณรงค์ให้ “ลด” ใช้ถุงพลาสติกที่ดำเนินการมากว่า 10 ปี ข่าวดีสำหรับการพยายามขับเคลื่อนในเรื่องนี้คือ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2562 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ประกาศรับทราบ (ร่าง) Roadmap การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561-2573 แล้วในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี เนื่องจากเล็งเห็นว่าปัจจุบันปัญหาขยะพลาสติกกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ทั่วโลกเร่งแก้ปัญหา รวมถึงประเทศไทยแต่ละปีสร้างขยะพลาสติกปีละ 2 ล้านตัน นำมารีไซเคิลได้ 0.5 ล้านตัน อีก 1.5 ล้านตัน นำไปฝังกลบหรือปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อม

การหันมาสนับสนุนให้มีการผลิตและใช้พลาสติกชีวภาพ (bioplastic) ซึ่งมีความคงทนเหมือนพลาสติกทั่วไป แต่ข้อดีคือ สามารถย่อยสลายได้ (compostable) ในประเทศไทยเพิ่งเริ่มมีการใช้พลาสติกชีวภาพในราว 10 ปีมานี้  ซึ่งไทยมีข้อได้เปรียบในด้านการมีแหล่งวัตถุดิบที่เป็นพืชปริมาณมาก จึงมีศักยภาพในการผลิตพลาสติกที่ทำจากพืช (bio-based plastic) ซึ่งวัตถุดิบที่สามารถผลิตทดแทนขึ้นใหม่ได้ในธรรมชาติ (renewable resource) เช่น มันสำปะหลัง และอ้อย

พลาสติกชีวภาพ (bioplastic) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ

  1. พลาสติกสลายตัวได้ (compostable plastic) คือ พลาสติกที่ย่อยสลายได้โดยจุลินทรีย์ที่ใช้ออกซิเจน กลายเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ น้ำ สารอื่นที่แตกละเอียด ไม่แตกเป็นชิ้น ๆ ใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้เลย และต้องไม่เป็นพิษเมื่อสลายตัวแล้ว
  2. พลาสติกแตกสลายทางชีวภาพได้ (biodegradable plastic) คือ พลาสติกที่แตกสลายได้เนื่องมาจากการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ เช่น แบคทีเรีย รา สาหร่าย ในสภาวะและช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น การมีน้ำ และบางครั้งอาจต้องมีออกซิเจนเข้าร่วม ตัวอย่าง พลาสติกแตกสลายทางชีวภาพได้ เช่น

พลาสติกชีวภาพจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาวัสดุสำหรับการใช้งานเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งในด้านวัตถุดิบ กระบวนการผลิต และกระบวนการกำจัด ในปัจจุบันพลาสติกชีวภาพเริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้นทั้งในแง่ของผู้บริโภคที่เลือกใช้ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ รวมไปถึงการตื่นตัวของอุตสาหกรรมพลาสติกในการนำเอาวัตถุดิบจากพืชมาใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์

สิ่งหนึ่งที่จะช่วยให้การใช้งานพลาสติกชีวภาพเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและมีการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลาสติกชีวภาพ นั่นคือสัญลักษณ์การรับรองที่แสดงบนผลิตภัณฑ์ที่ออกโดยหลายสถาบันในประเทศต่างๆ เพื่อบ่งชี้ให้ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นและยังเป็นการรับรองว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดและสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ