[ขอขอบคุณบทความจาก Green Network]
ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโลก ล้วนเกิดจากฝีมือมนุษย์ โดยเฉพาะปัญหาขยะพลาสติกล้นเมืองที่ไหลลงสู่ทะเลกลายเป็นปัญหาระดับโลก ก่อให้เกิดปัญหามลภาวะต่าง ๆ ตามมาอย่างมากมาย ซึ่งขณะนี้หลายประเทศให้ความสนใจและร่วมมือกันหาวิธีแก้ไข ทั้งการกำหนดนโยบายในการจัดการขยะ รวมถึงมาตรการลดเลิกใช้ถุงพลาสติก และการรณรงค์รีไซเคิล เพื่อร่วมมือกันกำจัดหรือลดจำนวนขยะพลาสติกลง และหันมาเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประเทศสวีเดน เป็นประเทศอันดับที่ 1 จากทุกประเทศทั่วโลกที่มีกระบวนการจัดการขยะ กลายเป็นประเทศหนึ่งเดี่ยวที่ได้เริ่มต้นโครงการคัดแยกขยะ และนำขยะที่คัดแยกแล้วกลับมาใช้เป็นพลังงานใหม่ตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1940 ซึ่งในปัจจุบันประเทศสวีเดนสามารถพัฒนาเทคโนโลยีที่นำขยะกลับมาใช้เป็นพลังงานได้โดยแทบไม่ก่อให้เกิดมลพิษใด ๆ และสามารถนำขยะไป Reuse ได้จำนวนมากถึง 96% และยังมีโครงการแปรรูปขยะเป็นพลังงานไฟฟ้าที่สามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองภายในประเทศได้มากกว่า 810,000 ครัวเรือน ขณะเดียวกัน สวีเดนมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกที่เก็บเงินค่าขวดพลาสติกจากผู้บริโภคที่ไม่นำขวดพลาสติกที่ใช้เสร็จแล้วไปคืน ณ จุดรับคืน เป็นต้น และได้ริเริ่มระบบมัดจำถุงพลาสติกโดยมีราคาคิดเป็นเงินบาทไทยจะอยู่ที่ 1.86 บาท ต่อใบ เป็นมาตรการป้องกันการทิ้งถุงพลาสติกไปอย่างเสียเปล่านั่นเอง
ประเทศเยอรมนี ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งขยะรีไซเคิล ปี ค.ศ. 1996 เคยครองอันดับ 1 ของโลก โดยประเทศเยอรมนีได้ออกกฎหมายควบคุมขยะมูลฝอยกระจายออกไปในทุกภาคส่วนของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการผลิต จำหน่าย หรือ บริโภค รวมถึงให้คัดแยกขยะก่อนทิ้งทุกครั้ง อีกทั้งยังมีการเก็บภาษีรีไซเคิลจากร้านค้าทุกร้านที่มีถุงพลาสติกแจกลูกค้า และมีระบบมัดจำค่าขวดพลาสติกเพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคส่งคืนขวดเพื่อนำไปรีไซเคิลต่อไป โดยมาตรการดังกล่าวนี้ทำให้บริษัทเครื่องดื่มต่าง ๆ ในประเทศเยอรมนี เลือกที่จะผลิตขวดพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้ออกสู่ตลาด เพราะการผลิตขวดพลาสติกใช้ซ้ำช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้จำนวนมากหากเทียบกับการผลิตขวดพลาสติกใหม่ เป็นผลทำให้จำนวนขวดพลาสติกในท้องตลาดของประเทศเยอรมนีเป็นขวดพลาสติกชนิดใช้ซ้ำมากถึง 64% ถือเป็นมาตรการที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมในทุก ๆ ภูมิภาคของประเทศเยอรมนีได้เป็นอย่างดี
ประเทศเดนมาร์ก เป็นประเทศตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการลดการใช้พลาสติก ในปี ค.ศ. 2003 โดยมีการเก็บภาษีถุงพลาสติกจากผู้ค้าปลีกเพื่อกดดันให้ร้านค้าปลีกคิดค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกกับลูกค้า และยังกระตุ้นให้ผู้บริโภคทั่วไปใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ ทำให้ประเทศเดนมาร์กลดการใช้ถุงพลาสติกจากเดิมได้ถึง 66% นอกจากนี้ยังมีระบบมัดจำค่าขวดที่เก็บเงินค่าขวดพลาสติกเพิ่มจากราคาสินค้า เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคนำขวดมาคืนเพื่อรับเงินที่มัดจำไว้ และนำขวดพลาสติกที่รวบรวมได้จะนำไปรีไซเคิลต่อไป ซึ่งทำให้สามารถรีไซเคิลขวดพลาสติกได้ถึง 90% ของขวดพลาสติกที่รับคืนในระบบ
ประเทศอังกฤษ ดำเนินการนโยบายเก็บภาษีถุงพลาสติก และห้ามใช้พลาสติกที่ใช้แล้วทิ้ง ในปี ค.ศ. 2015 อังกฤษได้เริ่มเก็บค่าธรรมเนียมถุงพลาสติกจากผู้บริโภคในร้านค้าใหญ่ ๆ ใบละประมาณ 2.14 บาท และยังมีแผนที่จะนำระบบมัดจำขวดพลาสติกมาใช้ รวมทั้งห้ามใช้หลอดดูดพลาสติก แท่งพลาสติกสำหรับคนกาแฟ และ ก้านสำลีแคะหู ซึ่งถือว่าวิธีการดังกล่าวทำให้ประเทศอังกฤษสามารถลดการใช้พลาสติกได้มากกว่า 80% ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 13 ล้านปอนด์ ซึ่งช่วยให้ประเทศอังกฤษอนุรักษ์พลังงานได้มากมายมหาศาลต่อไปในอนาคต
ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ยังไม่มีคำสั่งห้ามหรือการเก็บภาษีกับถุงขยะพลาสติกทั่วประเทศ แต่ก็มีบางรัฐที่ออกกฎมาตรการควบคุมพลาสติกก็คือ ซานฟรานซิสโก ถือเป็นเมืองแรกของอเมริกาที่มีการห้ามถุงพลาสติกเด็ดขาด ซึ่งนโยบายนี้ได้ผลักดันให้ชาวเมืองใช้ถุงที่สามารถใช้ซ้ำได้ (Reusable Bags) ด้วยการวางขายถุงกระดาษใส่ของที่ย่อยสลายได้ไว้ที่จุดแคชเชียร์ ทำให้ลดมลพิษจากถุงพลาสติกได้ถึง 72% และในปี ค.ศ. 2009 วอชิงตัน ดีซี ก็มีการเก็บภาษีถุงพลาสติกเหมือนกัน โดยภาษีที่เก็บได้ถูกนำเข้ากองทุนเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งนโยบายนี้สามารถลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 85% จึงทำให้ลดมลพิษช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้กับประเทศได้มากที่สุด
ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปี ค.ศ. 2011 ออสเตรเลียมีการห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิด PE แบบใช้ครั้งเดียวทุกชนิดที่บางกว่า 35 ไมครอน โดยรัฐบาลออสเตรเลียรณรงค์ให้พลเมืองใช้ถุงที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ (Reusable Bags) เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สามารถกำจัดขยะพลาสติกที่จะส่งไปหลุมฝังกลบได้ถึง 1 ใน 3 จากปริมาณเดิม และเมื่อไม่นานมานี้ในออสเตรเลียได้เริ่มนำมาตรการไม่ให้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งให้แก่ลูกค้าอีก เพื่อมุ่งให้เกิดการลดพลาสติก
ประเทศญี่ปุ่น เป็นประเทศเอเชียที่อยู่ในอันดับ 3 ของการเป็นประเทศที่มีวิธีการจัดการขยะมากมาย เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับการจัดการขยะในประเทศมาก ซึ่งประชากรชาวญี่ปุ่นทุกคนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบการจัดการขยะในประเทศของตนเองเป็นอย่างดีและมีระเบียบวินัย ประกอบกับการออกกฎหมายสำหรับการจัดการขยะพลาสติก ส่งผลให้ประเทศญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในด้านการจัดการขยะสูง ถือว่ากฎหมายดังกล่าวสามารถลดการทิ้งขยะได้ถึง 40% ทำให้การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศญี่ปุ่นจากเรื่องขยะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
จีน เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก จึงมีอัตราการใช้ถุงพลาสติกค่อนข้างสูงตามไปด้วย แต่ในปี 2008 รัฐบาลจีนได้มีคำสั่งห้ามร้านค้าและห้างสรรพสินค้าจัดเตรียมถุงพลาสติกฟรีที่มีขนาดบางกว่า 0.25 มิลลิเมตร ให้กับลูกค้า และเก็บค่าธรรมเนียมเมื่อใช้ถุงพลาสติก ซึ่งมาตรการดังกล่าวทำให้จีนลดการใช้ถุงพลาสติกได้ถึง 40,000 ล้านใบ
กลุ่มประเทศอาเซียน ประกอบด้วย อินโดนีเซีย กัมพูชา เมียนมาร์ และมาเลเซีย
อินโดนีเซีย ปี ค.ศ. 2016 อินโดนีเซียใช้งบประมาณถึง 1 พันล้านในการลดปริมาณขยะพลาสติก โดยรัฐบาลอินโดนีเซียได้ทดลองเก็บภาษีถุงพลาสติก แม้ในช่วงต้นจะเกิดกระแสต่อต้านจากประชาชนเป็นส่วนใหญ่ แต่สุดท้ายรัฐบาลก็สามารถลดปริมาณถุงพลาสติกได้จำนวนมาก ขณะที่ประเทศกัมพูชา ปี ค.ศ. 2019 กัมพูชาตั้งเป้าลดการใช้ถุงพลาสติกให้ได้ 50% โดยเก็บเงินค่าถุงพลาสติกจากผู้บริโภค ขณะที่ทางการกำลังพิจารณาห้ามผลิต นำเข้า และจำหน่ายถุงพลาสติกที่บางกว่า 0.03 มิลลิเมตร และมีความกว้างน้อยกว่า 30 เซนติเมตร และจะเก็บเงินค่าถุงพลาสติกเพิ่มขึ้นทั่วประเทศในปีนี้ (ค.ศ.2020) สำหรับประเทศเมียนมาร์ ปี ค.ศ. 2009 บริษัทผู้ผลิตถุงพลาสติกในย่างกุ้งได้รับคำสั่งจากรัฐบาลในขณะนั้นให้ยกเลิกการผลิตถุงพลาสติก พร้อมกับได้ออกมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกในหลายเมือง ส่วนประเทศมาเลเซีย เก็บภาษีถุงพลาสติกเฉพาะเขตเมืองปีนัง พร้อมทั้งรณรงค์ลดการใช้ถุงพลาสติกและโฟมเฉพาะวันเสาร์ ทั้งยังแก้ไขกฎหมายเพื่อสนับสนุนการรณรงค์ด้วยการกำหนดให้ผู้ค้าปลีกในห้างสรรพสินค้า หรือซุปเปอร์มาร์เก็ตต้องยอมรับข้อกำหนดนี้ และผู้ซื้อต้องการใช้ถุงพลาสติกจะต้องจ่าย 20 เซ็นต์ต่อถุงพลาสติก 1 ใบ เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ปัญหาสิ่งแวดล้อมทั่วโลกต่างหาวิธีการแก้ไขอย่างยั่งยืน หากมองกลับมาที่ประเทศไทยของเรา เป็นประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติกปริมาณมากและทิ้งขยะลงสู่ทะเลมากที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ส่งผลให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำหนดมาตรการให้ลดเลิกและงดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว 100% รวมถึงมาตรการสนับสนุนให้เลือกใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยเริ่มวันที่ 1 มกราคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งรัฐบาลไทยตั้งเป้าไว้ว่าภายในปี ค.ศ. 2022 ประเทศไทยจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี
Source: นิตยสาร Green Network ฉบับที่ 97 มกราคม-กุมภาพันธ์ 2563 คอลัมน์ GREEN World โดย กองบรรณาธิการ